วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติศาสนาอิสลาม

ประวัติศาสนาอิสลาม

ท่านศาสดามูฮัมมัด หรือพระนบีมูฮัมมัด หรือ มะหะหมัดหรือมุฮัมมัด เกิดที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.570 บิดาชื่อ อับดุลเลาะห์ มารดาชื่อ อามีนะห์ บิดาถึงแก่กรรมขณะที่มาดาตั้งครรภ์พระองค์ได้ 2 เดือน ภายหลังพระองค์คลอดได้ไม่นานมารดาก็ถึงแก่กรรม พระองค์จึงต้องอาศัยอยู่กับปู่ซึ่งชราร่วม 100 ปี ไม่นานปู่ก็ถึงแก่กรรม พระองค์ต้องไปอาศัยอยู่กับลุง ซึ่งเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย ลุงฝึกสอนให้พระมูฮัมมัดทำการค้าขาย ตลอดชีวิตไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่การท่องเที่ยวค้าขายทำให้ได้ความรู้มาก เพระได้เดินทางไปจนถึงประเทศอียิปต์ และซีเรีย ได้พบคนหลายชาติหลายภาษา

ในขณะที่ท่านมีอายุ 25 ปีนั้นท่านไปทำงานอยู่กับท่านหญิง “คาดิยะห์หรืออาอิชะฮ์” ซึ่งมีอายุมากกว่าพระมูฮัมมัด 18 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการค้าในนครเมกกะด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีไมตร ีและมิตรภาพประกอบกับพระมูฮัมมัดมีประสบการณ์ในเรื่องการค้าขาย เมื่อสมัยที่ยังอยู่กับลุงจึงทำให้กิจการค้าของท่านหญิงคาดิยะห์ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ จึงได้แต่งานกับท่านหญิงคาดิยะห์

เมื่อแต่งงานแล้วจึงมีฐานะมั่งคั่งพระมูฮัมมัด และมีความสำคัญขึ้นในชีวิตและสังคมของเมกกะ โดยที่เป็นเชื้อสายโกรายซิตส์ จึงต้องทำการเคารพบูชากาบะด้วย พระองค์มีเวลาที่จะเป็นนักคิดมากขึ้น ทำให้พระมูฮัมมัดสนใจใฝ่คิดและตั้งปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับชีวิต บางครั้งก็ขึ้นไปบนยอดเขา หาที่สงบเพื่อตรึกตรอง

วันหนึ่งพระมูฮัมมัดได้รับ การดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่าอิดเราะอฺ แปลว่า จงอ่าน
"จงอ่านด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงสร้าง (สากลจักรวาล) ผู้ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือดจงอ่านเถิดและผู้อภิบาลของเจ้าทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่ง"

โดยเรื่องเล่าว่า มีเทพองค์หนึ่งมาปรากฏตัวแก่พระมูฮัมมัด โดยบอกให้รู้ว่า พระเจ้าที่แท้จริงมีอยู่องค์เดียว คือ พระอัลเลาะห์ และให้พระมูฮัมมัดเผยแผ่ศาสนา ในเดือนรอมาฎอน ณ ถ้ำฮิรออฺซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 40 ปี

พระผู้เป็นเจ้าทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดามูฮัมมัด ประกาศอิสลามอย่างลับๆก่อนคือประกาศแก่ญาติผู้ใกล้ชิดเป็นประการแรกหญิงคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม คือท่านหญิงคาดิยะห์ภรรยาของท่านชายหนุ่มคนแรกที่รับอิสลามคือท่านอบูบักร์ เยาวชนคนแรกที่รับอิสลามคือท่านอลี ซึ่งมีอายุเพียง 8-10ปี ทาสคนแรกคือ ท่านเซอิดซึ่งเป็นบุตรของฮาริซะฮ และต่อมาได้รับกรปลดปล่อยให้เป็นอิสระการประกาศอิสลามอย่างลับๆได้กระทำมาเป็นเวลา 3 ปีสาเหตุที่ประกาศอย่างลับๆนี้เพราะบรรดามุสลิมยังมีกำลังน้อยอยู่ หลังจากที่ท่านศาสดามูฮัมมัด ได้ประกาศศาสนาอย่างลับๆเป็นเวลา 3 ปีแล้วก็ได้รับบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าให้ประกาศอิสลามอย่างเปิดเผยทั้งๆที่ในขณะนั้นมีผู้นับถืออิสลามยังไม่มากนัก

ฮ.ค. ที่ 11 (ค.ศ. 632-633) ปีนี้เป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านนบี ท่านมิได้ไปไหน เพราะป่วยเนื่องจากยาพิษที่ท่านถูกผู้หญิงยิววางไว้หลายปีแล้ว ได้กำเริบ

ก่อนสิ้นชีพ 3 วันหลังจากทำนมัสการ (ละหมาด) โดยมีคนคอยพยุง แล้วท่านได้กล่าวเป็นครั้งสุดท้ายว่า มุสลิม ถ้าข้าพเจ้าทำผิดต่อใครในพวกท่าน ข้าพเจ้าอยู่นี่ พร้อมที่จะให้คำตอบอันแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ ถ้าข้าพเจ้าเป็นหนี้ใคร ข้าพเจ้ายินดีใช้คืนให้ ฯลฯ หน้าแดงเพราะอายในโลกนี้ ดีกว่าอายในโลกหน้า แล้วท่านได้ให้พรแก่ผู้อยู่ในที่นั้น แล้วกำชับให้มุสลิมทุกคนเอาใจใส่ในศาสนา และปฏิบัติตนด้วยใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อความสงบและใจบุญ

หลักจากนั้นก็มิได้ออกไปร่วมพิธีละหมาด จนบ่ายวันจันทร์ที่ 12 เดือนราบี 1 ฮ.ศ. 11 ตรงกับวันที่ 8 (บางแห่งเป็น 12) มิถุนายน ค.ศ. 632 ท่านนบีได้สิ้นชีพ รวมอายุได้ 62 ปี (นับปีเต็ม)สำเร็จแล้วทำการสอนได้ 22 ปี ศพของท่านบรรจุไว้ที่เมืองมะดีนะฮอยู่ทุกวันนี้


แนวคิดเรื่องนรกสวรรค์

เป็นศาสนาที่ปฏิเสธเรื่องกรรม ถือว่ากรรมมิใช่เรื่องของคนทำเอง แต่เป็นเรื่องของพระเจ้า และปฏิเสธเรื่องสังสารวัฏ แต่มีสวรรค์ นรก ดังนั้น คำสอนจึงเป็นไปเพื่ออยู่ในโลกนี้กับสวรรค์ พื้นฐานของศาสนานี้ที่สำคัญอยู่ที่ศรัทธาแต่พระอัลเลาะฮ์ โดยมีปาฏิหาริย์ อิทธฤทธิ์ของพระองค์เป็นหลักประกอบ แม้การปฏิบัติธรรมหรือทำอะไร แม้แต่ทำสงครามก็เพื่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้น จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนานี้ก็คือ ความโปรดปรานของพระอัลเลาะฮ์ จะได้ไปสวรรค์ไปอยู่ร่วมกับพระอัลเลาะฮ์ และให้คนทั้งโลกเป็นชาติเดียวกัน ภายใต้ร่มเงาของพระอัลเลาะฮ์ (คือเป็นมุสลิมให้หมด)
ความเข้าใจเรื่องสังสารวัฏของมุสลิมในศาสนามุสลิมถือว่า ตายแล้วไม่กลับมาเกิดใหม่อีก เมื่อตายแล้ววิญญาณจะวนเวียนอยู่ที่ศพและกุโบร คือที่ฝังศพของตนจนกว่าจะถึงวันสิ้นโลก เมื่อถึงวันนั้นเทพอิสรอฟิลเป่าสังข์ ดวงวิญญาณทุกดวงจะเข้าร่างแล้วลุกขึ้นจากหลุมฝังศพ เดินไปรับคำพิพากษา ใครจะขึ้นสวรรค์ ลงนรกก็รู้กันวันนั้น ตามความดีความชั่วของตน ขึ้นสวรรค์ก็อยู่เป็นนิรันดร ตกนรกก็ชั่วนิรันดร


แนวคิดเรื่องจุดหมายปลายทาง

1.จุดหมายปลายทาง สวรรค์ (อยู่กับพระเจ้า)
2.วิธีปฏิบัติ 1. มีความเชื่อในพระอัลเลาะฮ์และทูตของพระองค์ คือ พระนบีมูฮัมมัด 2. ทำละหมาด คือ สวดมนต์หันหน้าไป
ทางเมืองเมกกะ 3. ให้ทาน 4. อดอาหารเวลากลางวันในเดือนรอมฎอน (กลางคืนไม่ห้าม) 5. จาริกไปยังนครเมกกะ
3.ชีวิตในโลกนี้ มีครั้งเดียว

วิธีปฏิบัติในศาสนา

การทำความเคารพบูชา
หลักปฏิบัติ 5 ประการ ได้แก่
1. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ มูฮัมมัดรอซูลุลลอฮ์"
2. การละหมาดหรือนมาซ
3. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
4. การจ่ายซะกาต
5. การไปแสวงบุญหรือการประกอบพิธีฮัจญ์

1.การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ มูฮัมมัดรอซูลุลลอฮ์" (ซึ่งแปลว่า"ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะฮ์และมูฮัมมัดเป็นรอซูลของอัลเลาะฮ์")

คำปฏิญาณนี้เป็นถ้อยคำที่ผู้ยอมรับอิสลาม ทุกคนจะต้องกล่าวออกมาเป็นการยืนยันด้วยวาจาว่าตัวเองมีความศรัทธาดังที่กล่าวมาข้างต้น และพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติ และเงื่อนไขต่างๆ ที่อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดไว้ในคัมภีร์กุรอาน และคำสอนของท่านศาสดามูฮัมมัด ถึงแม้คำปฏิญาณดังกล่าวจะเป็นคำพูดเพียงประโยคสั้นๆ แต่ถ้อยคำนี้แหละที่ทำให้สังคมอาหรับป่าเถื่อนในสมัยท่านศาสดามูฮัมมัดต้องเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้อิสลามได้กลายเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

คำปฏิญาณดังกล่าวนี้ หมายความว่ามุสลิมจะไม่ยอมเคารพกราบไหว้หรือสักการะบูชาพระเจ้าอื่นใดไม่ว่าพระเจ้านั้นจะเป็นวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น หรือคนที่อุปโลกน์ตัวเองหรือถูกอุปโลกน์เป็นพระเจ้า หรือแม้แต่สิ่งใด หรือใครก็ตามที่อ้างว่าตัวเองมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนอัลเลาะฮ์แล้วเรียกร้องต้องการให้คนอื่นสักการะบูชาตนเองดังนั้น อิสลามจึงห้ามมุสลิมแสดงกิริยากราบแบบมือ และหัวจรดพื้นแก่วัตถุหรือบุคคลใดๆ แม้แต่พ่อแม่ของตัวเอง เพราะกิริยาการกราบอันถือว่าเป็นกิริยาที่แสดงถึงความสูงสุดในการเคารพสักการะนั้นจะถูกสงวนไว้ใช้กับ "อัลเลาะฮ์" ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่นั่นมิได้หมายความว่าอิสลามห้ามมิให้เคารพเชื่อฟังและทำความดีต่อพ่อแม่

การที่อิสลามห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุและบุคคลเช่นนั้น ก็เพราะว่าอิสลามถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุด และมนุษย์ทุกคนมีฐานะแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสายตาของอัลเลาะฮ์ เมื่อมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดแล้ว หากมนุษย์ยังไปสักการะบูชาหรือกราบไหว้วัตถุธรรมชาติ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ทำขึ้นมา หรือสักการะบูชามนุษย์ด้วยกันเองนั่นก็หมายความว่า มนุษย์กำลังลดฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ในสายตาของพระองค์ลง

เมื่ออิสลามห้ามสักการะหรือกราบไหว้พระเจ้าอื่นใดแล้ว อิสลามก็สั่งให้มุสลิมเคารพภักดีอัลเลาะฮ์แต่เพียงพระองค์เดียวทั้งนี้ เพราะพระองค์เท่านั้นที่ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาลรวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วยและพระองค์ไม่มีผู้ใดมาเป็นภาคีร่วมกับพระองค์
คำปฏิญาณตอนที่สองที่กล่าวว่า "มูฮัมมัดเป็นรอซูลของอัลเลาะฮ์" นั้นหมายความว่า เมื่อใครยอมรับอัลเลาะฮ์ว่าเป็นพระเจ้าของเขาแล้ว เขาจะต้องยอมรับว่ามูฮัมมัดเป็นรอซูล หรือผู้นำสารของอัลเลาะฮ์ (กุรอ่าน) มาประกาศยังมนุษยชาติและจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของศาสดามูฮัมมัดด้วย

เมื่อท่านศาสดามูฮัมมัดประกาศคำปฏิญาณนี้ออกมา ความหมายของคำปฏิญาณนี้ ได้ทำให้บรรดาพวกผู้นำชาวเมกกะเริ่มหวั่นวิตกทันที เพราะคนเหล่านี้รู้ดีว่าท่านศาสดามูฮัมมัดกำลังประกาศให้คนรู้ว่าอัลเลาะฮ์ต่างหากที่เป็นใหญ่ และเป็นผู้ทรงอำนาจมิใช่พวกหัวหน้าชาวเมกกะและถ้าใครยอมรับคำปฏิญาณนี้ ก็หมายความว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องยอมรับความเป็นผู้นำของศาสดามูฮัมมัดนอกจากนั้นแล้วมันยังหมายความว่าความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วิถีการดำรงชีวิตแบบเก่าที่พวกเขาเคยปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจะต้องถูกทำลายลงด้วยนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมพวกหัวหน้าชาวเมกกะถึงได้ต่อต้านท่านศาสดามูฮัมมัดตั้งแต่ท่านเริ่มประกาศศาสนา

2.การละหมาด หรือนมาซ (หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า "เศาะลาฮ์)
การละหมาด คือการแสดงความเคารพสักการะและการแสดงความขอบคุณต่ออัลเลาะฮ์ซึ่งกระทำวันละ5 เวลาคือตอนรุ่งอรุณ ตอนบ่ายตอนตะวันคล้อย ตอนดวงอาทิตย์ตกดิน และในยามค่ำคืน โดยในการละหมาดทุกครั้ง มุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปทางก๊ะอบะฮซึ่งอยู่ในนครเมกกะ และหน้าที่ในการละหมาดนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ตั้งแต่เริ่มมีความรู้สึกทางเพศ(สำหรับผู้ชาย) และเริ่มมีประจำเดือน(สำหรับผู้หญิง) ซึ่งเป็นวันที่อิสลามถือว่า เริ่มเข้าสู่วัยแห่งความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

การละหมาดเป็นสิ่งที่ยืนยันความศรัทธาที่ปรากฎให้เห็นทางภายนอกได้ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบ และคนที่ดำรงรักษาการละหมาดของตัวเองได้ครบห้าเวลาต่อวันนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความผูกพันกับอัลเลาะฮ์ และรำลึกถึงพระคุณของพระองค์อยู่ตลอดเวลาจริงๆ

อันที่จริงแล้ว การปฏิบัติศาสนกิจที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมปฏิบัตินั้น มิได้เป็นพิธีกรรมอันลึกลับที่ยากต่อการปฏิบัติ หากแต่เป็นภารกิจที่ปฏิบัติอย่างเปิดเผยสะดวกและง่ายต่อผู้ปฏิบัติ การละหมาดนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงความเคารพภักด ีและเป็นการแสดงความขอบคุณต่ออัลเลาะฮ์ แล้วคัมภีร์กุรอานยังได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนอีกว่า "แท้จริงการละหมาดจะยับยั้งจากความชั่วช้าและความลามก"

ทั้งนี้คนที่ละหมาดนั้นจะเป็นคนที่รำลึกถึงอัลเลาะฮ์ และจะเชื่อว่าอัลเลาะฮ์จะทรงเห็นการกระทำของเขาทั้งในที่ลับและในที่เปิดเผยดังนั้น ความเกรงกลัวอันนี้จะช่วยยับยั้งเขามิให้ปฏิบัติความชั่ว

3.การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
การถือศีลอดเป็นวินัยบัญญัติอีกประการหนึ่งซึ่งอิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคน ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งชาย และหญิง ต้องปฏิบัติในเดือนรอมฏอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอาหรับการถือศีลอด เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นศรัทธาต่ออัลเลาะฮ์อย่างแท้จริง เพราะในการถือศีลอดนั้นมุสลิม จะต้องละเว้นจากการกินการดื่มตั้งแต่รุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงดวงอาทิตย์ตกดิน ซึ่งต้องใช้ความอดทนอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วยังจะต้องละเว้นจากความชั่วช้าเลวทราม ทั้งการกระทำคำพูด หรือแม้แต่กระทั่งความคิดด้วย

การถือศีลอดเป็นสิ่งที่คนก่อนสมัยศาสดามูฮัมมัด เคยถือปฏิบัติกันมาแล้ว และวัตถุประสงค์สำคัญของการถือศีลอด ก็คือเพื่อให้มุสลิมเกิดความยำเกรงต่ออัลเลาะฮ์ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์กุรอานว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า เช่นเดียวกับที่เคยถูกกำหนดแก่บรรดาก่อนหน้าสูเจ้า ทั้งนี้เพื่อที่สูเจ้าจะได้เกิดความยำเกรง" ที่การถือศีลอด เป็นการฝึกให้มุสลิมเกิดความยำเกรงนั้น ก็เนื่องจากว่าในระหว่างการถือศีลอดนั้นขนาดอาหาร และเครื่องดื่มที่ศาสนาไม่ห้ามบริโภคมุสลิมยังยอมอดได้ เมื่ออัลเลาะฮ์สั่งให้ละเว้น ดังนั้นสิ่งใดที่อัลเลาะฮ์ห้ามตลอดกาลเช่น สุราการเที่ยวผู้หญิง มุสลิมผู้มีศรัทธาในพระองค์ก็ย่อมจะสามารถละเว้นได้ด้วยเช่นกัน

ความจริงแล้วในระหว่างการถือศีลอดนั้น การอดอาหารและน้ำเป็นเพียงมาตราการที่จะช่วยลดความต้องการทางอารมณ์ให้ต่ำลง ดังนั้น ถ้าผู้ใดถือศีลอดแล้วยังมีอารมณ์ใฝ่ต่ำและทำความชั่วอยู่ สิ่งที่เขาผู้นั้นจะได้รับจากการถือศีลอดก็คือ ความหิวกระหายธรรมดา ซึ่งไม่มีผลต่อการฝึกฝนหรือขัดเกลาจิตใจของเขาแต่ประการใด

4.การจ่ายซะกาต
การจ่ายซะกาตคือการจ่ายทรัพย์สินในอัตราที่ศาสนากำหนดไว้จำนวนหนึ่งจากทรัพย์สินที่สะสมไว้เมื่อครบรอบปี โดยจะต้องจ่ายทรัพย์สินนี้ให้แก่คนที่มีสิทธิ์ได้รับ 8 จำพวก ตามที่คัมภีร์กุรอานได้กำหนดไว้อันได้แก่
1) คนยากจน
2) คนที่อัตคัตขัดสน
3) คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม
4) ผู้บริหารการจัดเก็บและจ่ายซะกาต
5) ไถ่ทาส
6) ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
7) คนพลัดถิ่นหลงทาง
8) ใช้ในหนทางของอัลเลาะฮ์ความจริงแล้ว

คำว่า "ซะกาต"แปลว่า "การซักฟอก การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ และการเจริญเติบโต" และคำว่า "ซะกาต" นี้ได้ถูกกล่าวควบคู่กับการละหมาดในคัมภีร์กุรอานไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ด้วยเหตุนี้มุสลิมที่ปฏิบัติละหมาดแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาตนั้น ความเป็นมุสลิมของเขาจึงยังไม่สมบูรณ์

วัตถุประสงค์ที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมจ่ายซะกาตก็คือเพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธานอกจากนั้นแล้วการจ่ายซะกาต ก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อซักฟอกทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่าย ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการสร้างความเจริญให้แก่สังคมอีกด้วยที่กล่าวว่าซะกาตมีวัตถุประสงค์เพื่อซักฟอกทรัพย์สิน และจิตใจของผู้จ่ายซะกาต ก็เพราะอิสลามถือว่าทรัพย์สินที่มุสลิมหามาด้วยความสุจริตก็ตาม หากทรัพย์สินที่สะสมไว้นั้นยังไม่ได้นำมาออกซะกาต ทรัพย์สินนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ ขณะเดียวกัน การจ่ายซะกาตก็จะช่วยชำระจิตใจของผู้จ่าย ให้หมดจากความตระหนี่ถี่เหนียว และความโลภซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสกปรกทางใจอย่างหนึ่ง

หากเรามองหลักการจ่ายซะกาตจากแง่สังคม เราจะเห็นว่าบรรดาผู้ที่มีสิทธิได้รับซะกาตนั้นมักจะเป็นผู้ที่เป็นปัญหาในสังคม ดังนั้นการนำซะกาตไปให้คนเหล่านี้จึงเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่ถูกจุด ขณะเดียวกันถ้าเรามองจากทางด้านเศรษฐกิจเราจะเห็นว่าซะกาตจะทำให้คนยากจนคนอนาถาในสังคมมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น เพราะมีการถ่ายเททรัพย์สินจากคนรวยไปสู่คนจน และเมื่อคนเหล่านี้มีอำนาจซื้อก็จะส่งผลให้มีการผลิตสนองตอบความต้องการ ทำให้มีการจ้างงาน และมีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจติดตามมา ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าการจ่ายซะกาตนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา แล้ว มันยังเป็นการแสดงความเคารพภักดีต่ออัลเลาะฮ์โดยผ่านทางการช่วยเหลือสังคมด้วย

ซะกาตมี 2 ประเภทคือ
1)ซะกาตฟิตเราะฮ์ คือซะกาตที่มุสลิมที่สามารถจะเลี้ยงตัวได้ต้องจ่ายให้แก่คนยากจน หรือคนอนาถาในเดือนรอมฎอนอันเป็นเดือนถือศีลอด โดยจ่ายเป็นอาหารหลักที่คนในท้องถิ่นกินกันเป็นประจำ ซึ่งได้แก่ข้าวสารประมาณ 3 ลิตร (หรืออาจให้เป็นเงินที่มีมูลค่าเท่ากับข้าวสารจำนวนดังกล่าว) สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นจะต้องรับผิดชอบการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์นี้แทนสมาชิกในครอบครัวด้วย การจ่ายฟิตเราะฮนี้มีความสำคัญถึงขนาดที่ว่าหากใครถือศีลอดแล้วไม่จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ อัลเลาะฮ์ก็จะยังไม่รับการถือศีลอดของเขา
2)ซะกาตมาล หรือซะกาตทรัพย์สิน เป็นซะกาตที่จ่ายจากทรัพย์สินที่สะสมไว้หลังจากการใช้จ่าย ครบรอบปีแล้วในอัตราที่ต่างกันตามประเภทของทรัพย์สินตั้งแต่ร้อยละ 2.5 ไปจนถึง 20

5.การไปแสวงบุญหรือการประกอบพิธีฮัจญ์

การทำฮัจญ์ คือการเดินทางไปปฏิบัติสถานกิจ ที่นครเมกกะในเดือนซุลฮิจญะฮตามวันเวลาและสถานที่ที่ถูกกำหนดไว้ หลักการข้อนี้ถือเป็นสิ่งบังคับสำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิงทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกายทรัพย์สิน และเส้นทางมีความปลอดภัย

การทำฮัจญ์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาเก่าแก่ ที่มีมาก่อนสมัยของศาสดามูฮัมมัดจากหลักฐานในคัมภีร์กุรอาน การทำฮัจญ์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่อัลเลาะฮ์ได้บัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมและอิสมาอีลผู้ที่เป็นลูกชายร่วมกันสร้าง"บัยตุลลอฮ" (บ้านของอัลเลาะฮ์) ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเคารพภักดีต่อพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติให้มาร่วมกัน แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่บ้านดังกล่าว

ดังนั้น ในเดือนซุลฮิจญะฮซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปฏิทินอิสลาม มุสลิมทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์จากทั่วโลกนับล้านคน จะเดินทางไปร่วมกันแสดงความเคารพภักดีต่ออัลเลาะฮ์ที่บ้านของพระองค์

หลังจากสมัยของท่านศาสดาอิบรอฮีมแล้ว ด้วยความโง่เขลาและความหลงผิดของผู้คนรูปแบบของการทำฮัจญ์ได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก เช่นแทนที่ผู้คนจะเคารพบูชาอัลเลาะฮ์แต่เพียงพระองค์เดียว พวกเขากลับเอารูปปั้นเทวรูปต่างๆที่พวกเขาบูชามาตั้งไว้รอบๆ กะบะฮ์ เพื่อสักการะบูชาในระหว่างการทำฮัจญ์และในพิธีการเดินรอบกะบะฮ์และอื่นๆอีกมากมายที่ท่านศาสดาไม่ได้ทำแบบอย่างไว้ จนกระทั่งมาถึงสมัยของท่านศาสดามูฮัมมัดหลังจากที่ท่านเข้ายึดเมกกะได้แล้วท่านได้สั่งให้ทำลายรูปปั้นบูชาต่างๆ รอบๆ กะบะฮ์ลงจนหมดสิ้น และท่านได้แสดงแบบอย่างการทำฮัจญ์ที่ถูกต้องให้บรรดาผู้ที่ศรัทธาในอัลเลาะฮ์ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการทำฮัจญ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นฮัจญ์ที่มีแบบอย่างมาจากท่านศาสดามูฮัมมัด

หากใครได้ ศึกษารายละเอียดของหลักการและการปฏิบัติฮัจญ์ เขาจะทราบได้ทันทีว่าฮัจญ์เป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่ถูกกำหนดไว้ ให้มุสลิมถือปฏิบัติ เพื่อยืนยันถึงความศรัทธาในอัลเลาะฮ์ที่ต้องอาศัยความเสียสละทั้งทรัพย์สินและเวลา ความอดทนทั้งทางร่างกายและจิตใจการให้อภัยและความสำนึกทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนความศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าไปพร้อมๆกัน

การทำฮัจญ์นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพภักดี และยืนยันในความศรัทธาต่ออัลเลาะฮ์ แล้วยังสอนมนุษย์ทุกคนให้รู้สำนึกว่าในสายตาของอัลเลาะฮ์แล้วมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะในการทำฮัจญ์ ผู้ทำฮัจญ์ทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้นเผ่าพันธุ์ ภาษาหรือมีฐานะอย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าสีขาวเพียงสองชิ้นเหมือนกันหมดทุกคนจะต้องปฏิบัติพิธีการต่างๆเหมือนกันหมด และทุกคนต่างก็ประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์เหมือนกันหมด

หลักการปฏิบัติ 5 ประการที่อิสลามกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัตินั้นมิใช่เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดในอิสลาม แต่เป็นเพียงวินัยบัญญัติอย่างน้อยที่สุด ที่อิสลามกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัติเพื่อยืนยันถึงความศรัทธาของเขาเท่านั้น อันที่จริงแล้วอิสลามยังมีบทบัญญัติอื่นๆที่กำหนดให้มุสลิมปฏิบัติอีกมากมาย ที่จะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาในทุกย่างก้าวของชีวิต

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของโลก เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม นับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ พระอัลลอฮ์ โดยมีท่านนบีมุฮัมมัดเป็นศาสดา และเป็นผู้ประกาศศาสนา ศาสนาอิสลาม ไม่มีพระหรือนักบวชเพื่อทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม และเผยแผ่ศาสนาโดยเฉพาะ เช่น อิหม่ามก็เป็นเพียงผู้นำในการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น มิใช่พระที่ทำหน้าที่เป็นกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์

ผู้นับถือ ศาสนาอิสลาม เรียกว่า “ มุสลิม ” มุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติศาสนากิจเหมือนกันหมด จึงไม่มีนักบวช และมิได้แบ่งแยกแนวทางปฏิบัติ ระหว่างศาสนิกชนกับนักบวช แม้แต่บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น อิหม่าม หรือ ท่านจุฬาราชมนตรี ก็ถือว่าเป็นผู้นำทางศาสนกิจ และผู้นำมุสลิมในประเทศไทยเท่านั้น มิได้มีฐานะเป็นผู้นำนักบวชแต่อย่างใด

ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาหนึ่งที่มีผู้นับถืออยู่หลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลาง ประชาชนส่วนใหญ่จะนับถือ ศาสนาอิสลาม ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศมาเลเซียมีผู้นับถือ ศาสนาอิสลาม มาก สำหรับประเทศไทยมีประชาชนที่นับถือ ศาสนาอิสลาม อยู่ทั่วไป แต่บริเวณที่มากที่สุด คือ ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส

ประวัติความเป็นมา

ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังพุทธศักราชประมาณ ๑,๑๑๓ ปี ผู้ที่นับถือ ศาสนาอิสลาม เรียกว่า มุสลิม แปลว่า ผู้แสวงหาสันติ หรือ ผู้นอบน้อมต่อประสงค์ของพระเจ้า

มุสลิม นับถือพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่า พระอัลลอฮ์ พระอัลลอฮ์ทรงเลือกบุคคลที่พร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ มีหน้าที่นำข้อบัญญัติทางศาสนามาเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ศาสนทูตองค์สุดท้าย คือ นบีมุฮัมมัด ท่านเป็นอาหรับ กำเนิดที่เมืองมักกะฮ์ มารดาชื่อ อามีนะฮ์ เป็นชนในเผ่ากุร็อยชฺ ท่านศาสดาเป็นกำพร้าตั้งแต่เยาว์วัย ในเวลาต่อมาจึงต้องไปอยู่ในความอุปการะของอาบูฏอลิบผู้เป็นลุง โดยช่วยลุงเลี้ยงปศุสัตว์ ค้าขาย และทำงานอื่นๆในครอบครัว เมื่อโตเป็นหนุ่ม ได้ไปทำงานกับนางคอดีญะฮ์ เศรษฐีม่าย โดยท่านทำหน้าที่ควบคุมกองคาราวานสินค้า ไปขายยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งในเวลาต่อมาทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน

ในสมัยที่ท่านศาสดาถือกำเนิดนั้น สังคมอาหรับอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก ผู้คนมั่วสุมดื่มน้ำเมาและเล่นการพนัน การละเมิดประเวณีเกิดขึ้นเป็นประจำ มีการฝังเด็กหญิงทั้งเป็นเพราะถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล การแก้แค้นด้วยการประหัตประหารเป็นเรื่องปกติผู้คนงมงายกับการบูชารูปเคารพ และการประกอบพีกรรมต่างๆ ที่สิ้นเปลืองและไร้สาระ ท่านศาสดาพยายามหาหนทางแก้ปัญหาในสังคมที่ท่านพบเห็นอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ท่านหลบไปหาความสงบวิเวก ในถ้ำบนภูเขาอิรอฮ์ เทวทูตญิบรออีลก็ได้นำโองการของพระเจ้า (พระอัลลอฮ์) มาประทานแก่ท่าน ท่านศาสดามุฮัมมัดจึงเริ่มประกาศศาสนา คนแรกที่เข้ารับนับถือ ศาสนาอิสลาม ก็คือ นางคอดีญะฮ์ ผู้เป็นภรรยา การประกาศศาสนาช่วงแรกเต็มไปด้วยความยากลำบากและถูกต่อต้านเพราะ ศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้มีอิทธิพลเสียผลประโยชน์ รวมทั้งให้คนทั่วไปซึ่งนับถือรูปเคารพต่างๆ ขัดเคือง

หลังจากประกาศศาสนาได้ ๑๓ ปี ท่านศาสดา และสาวกได้ลี้ภัยจากการตามล้างผลาญของชาวเมืองมักกะฮ์ โดยไปอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์ ปีที่ท่านศาสดามุฮัมมัดอพยพมาอยู่เมืองมะดีนะฮ์นี้ ถือเป็นการเริ่มต้นนับศักราช อิสลาม เรียกว่า ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๑๑๗๓ ท่านศาสดาก็สามารถรวบรวมผู้คนกลับไปยึดเมืองมักกะฮ์ไว้ได้ โดยปราศจากการสู้รบให้เสียเลือดเนื้อ ท่านศาสดาให้ทำลายรูปเคารพต่างๆ และประกาศนิรโทษกรรมแก่ชาวเมืองที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อท่าน หลังจากนั้นท่านศาสดามุฮัมมัดก็ได้กลับไปเมืองมะดีนะฮ์ ต่อมาภายหลังชนอาหรับเผ่าต่างๆ และประเทศข้างเคียงก็ได้ส่งทูตเข้ามาขอเป็นพันธมิตรบ้าง เพื่อขอรับนับถือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลาม จึงได้แพร่ขยายไปทั่วดินแดนตะวันออกกลาง อินเดีย และที่อื่นๆ นับตั้งแต่บัดนั้น

ท่านศาสดามุฮัมมัด ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ตรงกับ ฮ.ศ. ๑๑ ในขณะที่ท่านศาสดามีชีวิตอยู่ตั้งแต่เป็นเด็กเลี้ยงแพะ จนกระทั่งเป็นศาสดา และเป็นประมุขแห่งประชาชาติอาหรับ ท่านได้ดำรงตนเป็นผู้เสมอต้นเสมอปลาย อยู่ง่าย กินง่าย มีเมตตากับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้ และต่ำต้อย ท่านไม่ถือยศถือศักดิ์ มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความยุติธรรม และความซื่อสัตย์เป็นเลิศจนได้รับฉายาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มว่า “อัลลามีน” ซึ่งแปลว่า ผู้ซื่อสัตย์

นิกายสำคัญ

ใน ศาสนาอิสลาม การแยกนิกาย มิได้อยู่ที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับความเชื่อในหลักคำสอน หรือในการปฏิบัติศาสนกิจ แต่อยู่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสำคัญ กล่าวคือ ก่อนสิ้นชีวิต ท่านเป็นศาสดามูฮัมมัดมิได้ตั้งใครเป็นทายาทสืบแทน หลังมรณกรรมของท่าน ก็มีปัญหาเรื่องการตั้งผู้นำโลกมุสลิม ซึ่งเป็นทั้งผู้นำศาสนจักร และอาณาจักรในเวลาเดียวกัน เหมือนกับที่ท่านศาสดาเคยเป็นกลุ่มคอวาริจญ์เห็นว่าควรเลือกตั้ง กลุ่มชีอะห์ว่าควรเอาผู้สืบเชื้อสายของท่านศาสดา

เหตุการณ์ขัดแย้งเหล่านี้ทำให้เกิดกลุ่มศาสนาขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม คอวาริจญ์ เรียกว่า ซุนนะห์ ( คนไทยเรียกสุหนี่ ) กลุ่มนี้ไม่เป็นทั้งพวกคอวาริจญ์ และชีอะห์ แต่เป็นพวกที่ถือแนวของอัล - กุรอาน และซุนนะห์ ( ซุนนะห์ หมายถึง แบบแผนที่ได้จากจริยวัตร และโอวาทของท่านศาสดามุฮัมมัด )

โดยสรุปนิกายต่างๆ ของศาสนาอิสลามมีดังนี้

๑) นิกายซุนนีหรือซุนนะห์ เคร่งครัดการปฏิบัติตาม คัมภีร์อัล-กุรอาน และซุนนะห์เท่านั้น และยอมรับผู้นำ ๔ คนแรก ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดท่านศาสดา มุสลิมส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยนับถือนิกายนี้

๒) นิกายชีอะห์ ชีอะห์ แปลว่า พรรคพวก หมายถึง พรรคพวกท่านอาลีนั่นเอง นิกายนี้ถือว่าท่านอาลี บุตรเขยของศาสดามูฮัมมัดคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้ที่ถูกต้อง ผู้ถือนิกายนี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอิหร่าน อิรัก เยเมน อินเดีย และประเทศในทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก

๓) นิกายคอวาริจญ์ ถือว่าผู้จะเป็นคอลีฟะห์นั้น ต้องมาจากการเลือกตั้งเสรี นิกายนี้มีผู้นับถือมากในแอลจีเรีย โอมาน คาบสมุทรอาระเบียตอนใต้

๔) นิกายวาฮาบี ตั้งขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ถือว่า พระคัมภีร์อัล-กุรอานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ไม่ยอมรับการตีความ ในเรื่องศาสนาของผู้ใดเคารพพระอัลลอฮ์องค์เดียว ไม่นับถือใครอื่น ไม่เชื่อว่าท่านศาสดามูฮัมมัด เป็นผู้แทนพระอัลลอฮ์ ไม่มีการฉลองวันประสูติของท่านศาสดา ห้ามของฟุ่มเฟือยทุกชนิด นิกายนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ มีอยู่บ้างในอินเดีย และแอฟริกาตะวันออก

คัมภีร์ทางศาสนา

คัมภีร์ทาง ศาสนาอิสลาม เรียกว่า คัมภีร์อัล-กุรอาน คัมภีร์นี้ถือว่าเป็นวจนะของพระเจ้า ที่ได้ประทานแก่มวลมนุษย์ผ่านทางท่านศาสดานบีมุฮัมมัด ซึ่งเป็นบุคคลที่พระเจ้าอัลลอฮ์ทรงเลือกให้ทำหน้าที่ประกาศศาสนา และเป็นผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจตามคำสอนของพระองค์ พระอัลลอฮ์ประทานคัมภีร์แก่ท่านศาสดาโดยการดลใจ การทำให้เห็นภาพเวลาตกอยู่ในภวังค์ และการส่งเทวทูตมาพร้อมกับโองการ ท่านศาสดาได้รับโองการจากพระอัลลอฮ์เป็นระยะๆ ร่วมเวลาทั้งสิ้น ๒๓ ปี เมื่อได้รับโองการมาก็ให้สาวกจดจารึกลงบนหิน หนังสัตว์ และอื่นๆ เก็บไว้

คัมภีร์อัล-กุรอาน แปลว่า คัมภีร์สาธยายมนต์ มี 30 ภาค 114 บท เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับบุคคลและสังคม มีคำสอนเกี่ยวกับการทำความดี การดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน การแต่งงาน ความตาย อาชีพ การทำมาหากิน รวมทั้งมีเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคมไว้อย่างครบถ้วน

ภาษาที่ใช้บันทึกคัมภีร์อัล-กุรอาน คือ ภาษาอาหรับ ข้อความในคัมภีร์เป็นภาษาที่ไพเราะ มิใช่ร้อยแก้ว และมิใช่ร้อยกรอง แต่ก็มีสัมผัสในแบบของตัวเอง คัมภีร์แบ่งออกเป็น 114 บท แต่ละบทแบ่งเป็นโองการหรือวรรค มีทั้งหมด 6,000 โองการ ปัจจุบันนี้ได้มีการแปล คัมภีร์อัล-กุรอาน เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก ชาว มุสลิม ถือว่าคัมภีร์นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกคำ ทุกตัวอักษร เกิดจากพระอัลลอฮ์ และเป็นความจริงที่บริสุทธิ์ และเป็นธรรมนูญสำหรับชีวิต



หลักคำสอนพื้นฐาน

ศาสนาอิสลาม มีพิธีกรรม และหลักคำสอนเพื่อให้ปฏิบัติตามดังนี้

๑ ) หลักศรัทธา ๖ ประการ ได้แก่

( ๑ ) ศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์ มุสลิม เชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียวเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ผู้เป็น มุสลิม จะต้องศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว

( ๒ ) ศรัทธาต่อเทพบริวารของพระอัลลอฮ์ (เทวทูต) คือ ผู้รับใช้พระเจ้าซึ่งมีจำนวนมากมีหน้าที่ต่างๆ กัน เทวทูตเป็นคนกลางทำหน้าที่สื่อสาร ระหว่างท่านนบีมุฮัมมัดกับพระเจ้า กล่าวคือ ท่านนบีมูฮัมมัด ได้รับโองการจากพระเจ้าโดยทางเทวทูต ซึ่งเรียกว่า “ มลาอีกะฮ์ ” เป็นวิญญาณที่มองไม่เห็น แต่สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ตามบัญชาของพระอัลลอฮ์

(๓ ) ศรัทธาในพระคัมภีร์ทั้งหลาย คือ คัมภีร์ที่พระเจ้าได้ประทานมาก่อนหน้านี้ 104 คัมภีร์ ซึ่งรวมทั้งคัมภีร์ของศาสนายูดาย และศาสนาคริสต์ แต่ให้ถือว่าคัมภีร์อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์สุดท้าย และสมบูรณ์ที่สุด ที่พระเจ้าได้ประทานพรลงมาให้แก่มนุษยชาติ โดยผ่านทางศาสดามุฮัมมัด

( ๔ ) ศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูต ศาสนทูตเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่พระเจ้าได้เลือกสรรว่าเป็นคนดี เหมาะแก่การที่จะเป็นผู้ประกาศศาสนา ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย

( ๕ ) ศรัทธาในวันพิพากษา คือ วันสุดท้ายของโลก ชาว มุสลิม เชื่อว่าโลกมีวันแตกดับ เมื่อถึงวันนั้นมนุษย์ทุกคนต้องตาย และจะถูกทำให้ฟื้นขึ้นมา เพื่อพิจารณาโทษ ด้วยการสอบสวนพิพากษาตามความดีความชั่วที่ตนได้กระทำไว้

( ๖ ) ศรัทธาในการกำหนดสภาวะของโลก และชีวิต ว่าเป็นไปตามเจตจำนงของพระอัลลอฮ์




( ๒ ) หลักปฏิบัติ ๕ ประการ

การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาของ ศาสนาอิสลาม จะปฏิบัติในสถานที่ที่เรียกว่า “ มัสยิด ” หรือ “ สุเหร่า ” ชาว มุสลิม จะต้องปฏิบัติศาสนกิจให้พร้อมทั้ง ๓ ทาง คือ กาย วาจา และใจ หลักปฏิบัติสำคัญใน ศาสนาอิสลาม ๕ ประการ ได้แก่

( ๑ ) การปฏิญาณตน มุสลิม ต้องกล่าวปฏิญาณว่า “ ข้าพเจ้า ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริงมุฮัมมัดเป็นศาสนทูต ( รอซูล ) ของอัลลอฮ์ “ การปฏิญาณนี้เปรียบเสมือนหัวใจของ ศาสนาอิสลาม ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมิใช่ทำครั้งเดียว แต่ต้องทำเสมอเมื่อนมัสการพระเจ้า (ละหมาด)

( ๒ ) การละหมาด คือ การนมัสการ หรือ การแสดงความเคารพต่อพระเจ้า ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ชาว มุสลิม ทุกคนจะต้องปฏิบัติละหมาดวันละ ๕ เวลา คือ ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ และกลางคืน ซึ่งก่อนทำละหมาดจะต้องชำระร่างกายให้สะอาด และสำรวมจิตใจให้สงบ

( ๓ ) การถือศีลอด หมายถึง การละเว้นจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน มุสลิม จะต้องถือศีลอดปีละ ๑ เดือน คือ ในเดือนรอมาฎอนตามปฏิทินของอิสลาม ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอด ได้แก่ คนชรา หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อน คนที่ต้องทำงานหนัก คนเดินทางไกล หญิงขณะมีรอบเดือนหรือหลังคลอด คนป่วย การถือศีลอดเป็นการแสดงถึงความศรัทธาในพระเจ้า ฝึกความอดทน และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

( ๔ ) การบริจาคซะกาต หมายถึง การบริจาคทานให้แก่คนที่เหมาะสม ตามที่ศาสนากำหนด เช่น คนอนาถา เด็กกำพร้า คนขัดสน ผู้เผยแผ่ศาสนา การบริจาคซะกาต เป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ ชาว มุสลิม หรือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องสละทรัพย์ของตนในอัตราร้อยละ ๒.๕ เพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น เป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

( ๕ ) การประกอบพิธีฮัจญ์ หมายถึง การไปประกอบศาสนกิจ ณ ศาสนสถานบัยตุลลอฮ์ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การประกอบพิธีฮัจญ์ไม่ได้บังคับให้ชาว มุสลิม ต้องกระทำ แต่ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่พร้อม และมีความสามารถ คือ บรรลุนิติภาวะ มีสุขภาพดี มีทุนทรัพย์เพียงพอ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นอย่างดี




วันสำคัญทางศาสนา

วันสำคัญของ ศาสนาอิสลาม ได้แก่ วันแรกของเดือนรอมาฎอน โดยการดูดวงจันทร์ในตอนพลบค่ำของวันที่ ๒๙ ของเดือนที่ ๘ (ตามปฏิทินอิสลาม) หากปรากฏว่าไม่เห็นดวงจันทร์ ต้องถือวันถัดไปอีกวันหนึ่งเป็นวันแรกของเดือนรอมาฎอน



อ้างอิง

หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม : สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ม.๑ ช่วงชั้นที่ ๓. ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และคณะ. - - กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๕o. ๓๖๘ หน้า. ๑ สังคมศึกษา - - แบบเรียน. I. ชื่อเรื่อง. ๑๗o. ISBN 10 : 974 - 408 - 623 - 8 , ISBN 13 : 978 - 974 - 408 - 623 - 5. ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ WEB GUIDE : http://www.aksorn.com/Lib/S/Soc_01